โหราศาสตร์ เป็นวิชาที่ใช้ทายกาลล่วงหน้าหรือดูการล่วงหน้า ใช้สำหรับพยากรณ์ผลกรรมของมนุษย์โดยอาศัยดวงดาวเป็นเครื่องพยากรณ์
ผลกรรมของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา ตามที่แสดงไว้ในกัมมวิภังคสูตร ได้แสดงผลกรรมไว้ ๑๔ ประการคือ บางคนอายุยืน บางคนอายุสั้น บางคนมีโรคน้อย บางคนมีโรคมาก บางคนมีผิวพรรณดีบางคนมีผิวพรรณทราม บางคนมีศักดามาก บางคนมีศักดาน้อย บางคนมีทรัพย์สมบัติมาก บางคนมีทรัพย์สมบัติน้อย บางคนมีตระกูลสูง บางคนมีตระกูลต่ำ บางคนมีปัญญามาก บางคนมีปัญญาน้อย
โหราศาสตร์จะเป็นเครื่องบอกผลกรรม ๑๔ ประการ และความเป็นไปของมนุษย์ในห้วงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี แสดงเหตุและผลของดวงดาว ทำให้สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของวิถีทางของมนุษย์ และเหตุการณ์ของโลกทั่ว ๆ ไป
วิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาที่เก่าแก่เชื่อว่าเกิดในทวีปเอเซียก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปยังแหล่งอื่น ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศาสนาก็มีคำสดุดีดาวพระเคราะห์อยู่ด้วย สำหรับวิชาโหราศาสตร์ของไทยตามหลักฐานที่มีอยู่ แสดงว่าได้รับสืบทอดมาจากอินเดีย เมืองไทยเราตั้งอาณาจักรสุโขทัยก็ได้มีตำแหน่งพระมหาราชครู ซึ่งเป็นพราหมณาจารย์ และตั้งให้เป็นปุโรหิตประจำราชสำนักสืบต่อมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงมีพราหมณาจารย์ดำรงตำแหน่งพระมหาราชครู
ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพุทธานุญาตให้ พระภิกษุสงฆ์เรียนรู้วิชาโหราศาสตร์ในเรื่องฤกษ์ยาม เพื่อจะได้รู้เวลาทำอุโบสถสังฆกรรม อันเป็นกิจในพระพุทธศาสนา จึงได้มีชื่อ วัน เดือน ปี และฤกษ์แสดงไว้ท้ายบอกวัตรพระเป็นประเพณีสืบต่อมา ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในอรัญญิกเสนาสนะได้มีหมู่โจรมาถามว่า วันนี้พระจันทร์กอร์ปด้วยนักขัตฤกษ์อะไร พระภิกษุตอบว่าไม่รู้ พวกโจรจึงว่า ชนเหล่านี้มิใช่สมณะจึงไม่รู้นักขัตตบาท คงจะเป็นพวกโจรมาซุ่มซ่อนอยู่ ว่าแล้วโจรเหล่านั้นก็เข้าทำร้าย พระภิกษุเหล่านั้นแล้วหลีกไป เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จึงทรงมี พระพุทธฎีกาตรัสให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงตรัสอนุญาต ให้ภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าพึงเรียนรู้นักขัตฤกษ์ สำหรับอรัญญิกวัตร เพื่อรักษาตนให้พ้นอันตรายจากโจร อ่านเพิ่มเติม