โหราศาสตร์ เป็นวิชาที่ใช้ทายกาลล่วงหน้าหรือดูการล่วงหน้า ใช้สำหรับพยากรณ์ผลกรรมของมนุษย์โดยอาศัยดวงดาวเป็นเครื่องพยากรณ์
ผลกรรมของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา ตามที่แสดงไว้ในกัมมวิภังคสูตร ได้แสดงผลกรรมไว้ ๑๔ ประการคือ บางคนอายุยืน บางคนอายุสั้น บางคนมีโรคน้อย บางคนมีโรคมาก บางคนมีผิวพรรณดีบางคนมีผิวพรรณทราม บางคนมีศักดามาก บางคนมีศักดาน้อย บางคนมีทรัพย์สมบัติมาก บางคนมีทรัพย์สมบัติน้อย บางคนมีตระกูลสูง บางคนมีตระกูลต่ำ บางคนมีปัญญามาก บางคนมีปัญญาน้อย
โหราศาสตร์จะเป็นเครื่องบอกผลกรรม ๑๔ ประการ และความเป็นไปของมนุษย์ในห้วงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี แสดงเหตุและผลของดวงดาว ทำให้สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของวิถีทางของมนุษย์ และเหตุการณ์ของโลกทั่ว ๆ ไป
วิชาโหราศาสตร์ เป็นวิชาที่เก่าแก่เชื่อว่าเกิดในทวีปเอเซียก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปยังแหล่งอื่น ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศาสนาก็มีคำสดุดีดาวพระเคราะห์อยู่ด้วย สำหรับวิชาโหราศาสตร์ของไทยตามหลักฐานที่มีอยู่ แสดงว่าได้รับสืบทอดมาจากอินเดีย เมืองไทยเราตั้งอาณาจักรสุโขทัยก็ได้มีตำแหน่งพระมหาราชครู ซึ่งเป็นพราหมณาจารย์ และตั้งให้เป็นปุโรหิตประจำราชสำนักสืบต่อมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงมีพราหมณาจารย์ดำรงตำแหน่งพระมหาราชครู
ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพุทธานุญาตให้ พระภิกษุสงฆ์เรียนรู้วิชาโหราศาสตร์ในเรื่องฤกษ์ยาม เพื่อจะได้รู้เวลาทำอุโบสถสังฆกรรม อันเป็นกิจในพระพุทธศาสนา จึงได้มีชื่อ วัน เดือน ปี และฤกษ์แสดงไว้ท้ายบอกวัตรพระเป็นประเพณีสืบต่อมา ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในอรัญญิกเสนาสนะได้มีหมู่โจรมาถามว่า วันนี้พระจันทร์กอร์ปด้วยนักขัตฤกษ์อะไร พระภิกษุตอบว่าไม่รู้ พวกโจรจึงว่า ชนเหล่านี้มิใช่สมณะจึงไม่รู้นักขัตตบาท คงจะเป็นพวกโจรมาซุ่มซ่อนอยู่ ว่าแล้วโจรเหล่านั้นก็เข้าทำร้าย พระภิกษุเหล่านั้นแล้วหลีกไป เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จึงทรงมี พระพุทธฎีกาตรัสให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงตรัสอนุญาต ให้ภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าพึงเรียนรู้นักขัตฤกษ์ สำหรับอรัญญิกวัตร เพื่อรักษาตนให้พ้นอันตรายจากโจร
วิชาหมอดู จัดว่าเป็นบันไดขั้นต้นของวิชาโหราศาสตร์ ทั้งสองวิชาต่างก็ใช้ดวงดาวนพเคราะห์เป็นเครื่องวินิจฉัย หลักวิชาที่หมอดูใช้ได้แก่ ตำราเลข ๗ ตัว โดยอาศัย วัน เดือน ปี และยามเวลาเกิด โดยเทียบเข้ากับหลักการของดาวเคราะห์เป็นมูลฐานในการทำนาย ส่วนวิชาโหราศาสตร์มีการกำหนดท้องฟ้าเป็นจักรราศี โดยแบ่งออกเป็น ๑๒ ราศี แบ่งออกเป็น ๒๗ นักษัตร ๓๖ ตรียางค์ และ ๑๐๘ นวางค์ นอกจากนั้นยังมีตำรามหาทักษาพยากรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง หลักตำราโหรโบราณแทบทุกคัมภีร์ มักจะนำเอาหลักเกณฑ์ในมหาทักษาพยากรณ์ ไประคนกับหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์ ในวิชาโหราศาสตร์แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี แล้วจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองประจำทุกราศี ที่เรียกว่า เกษตร์ และจัดให้ธาตุทั้งสี่ คือ ไฟ ดิน ลม น้ำ เข้าครองประจำทุกราศี กำหนดให้ดาวพระเคราะห์เกษตร์ประจำราศี เข้าครองธาตุตามลักษณะธาตุที่ประจำราศีนั้น และทุกราศีก็กำหนดให้เป็นทิศต่าง ๆ ในวิชาหมอดู มีการแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ภูมิอัฐจักรพยากรณ์ มีดาวพระเคราะห์ ธาตุและทิศเข้าครองเหมือนหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์